8 ข้อ เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะไป(ปีนเขา)เนปาล?

ระยะหลังมานี้ คนไทยเริ่มนิยมไปเดินป่าปีนเขาที่เนปาลกันมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทาง ABC (Annapurna Base Camp) และ EBC (Everest Base Camp) จึงทำให้มีเพื่อนหลายคนที่กำลังจะไป เข้ามาปรึกษาอยู่เรื่อยๆ ถึงการเตรียมตัว

ขอออกตัวว่า ผมเองอาจไม่ใช่ผู้ชำนาญการ หรือไปเนปาลมาบ่อยๆ แต่ด้วยความที่ไปกับป๋าคมรัฐและผู้ชำนาญท่านอื่นๆ เลยมีโอกาสได้รับประสบกาารณ์และครูพักลักจำมาหลายอย่าง

ดังนั้น นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายล้านประสบการณ์จริง.. เริ่ม!

1. เครื่องนุ่งห่ม แนะนำให้แบ่งเป็นชั้น (Layered Clothing Systems)

เห็นมีคนเขียนถึงบ่อยๆ ยืนยันครับว่ามันใช้งานได้จริง ยิ่งถ้าคุณไปเดินเส้นทาง ABC ที่เริ่มต้นความสูงแค่ 600m ไต่จนถึง 4,100m คุณจะเจอแทบทุกสภาพอากาศ ทั้ง ร้อน ฝน หนาว ลูกเห็บ ได้เดินถอดเข้าถอดออก จนน่ารำคาญ, แต่ถ้าคุณใช้ของแรงไปหรือเบาไปในชุดเดียวกัน คุณก็จะร้อนจัด หรือหนาวจัด จนน่ารำคาญอีกเช่นกัน เพราะมันถอดไม่ได้หรือเพิ่มไม่ได้เลย

(ตัวอย่างประเภทของเสื้อผ้า – ภาพจาก Columbia.com)

เสื้อผ้าสำหรับกันหนาวที่ควรมีไว้

  • เสื้อ (Base Layer) : มันคือ เสื้อที่แนบชิดร่างกายเราเราที่สุด หลักๆแบ่งเป็น 2 แบบ
    • สื้อทั่วไป : เสื้อที่เราไว้ใส่เป็นปกติ ควรระบายเหงื่อได้ดี น้ำหนักเบา (ถ้ากัน UV ได้จะดีมาก) เพื่อไม่ให้เก็บเหงื่อจนมันชื้น หนัก จะทำให้เราหนาว
    • เสื้อลองจอน/Themal/Baselayer : เป็นเสื้อที่ใช้เนื้อผ้าชนิดพิเศษ เก็บความอบอุ่นของร่างกายได้ดี ใช้กรณีหนาวมากๆ
  • ปลอกแขน : ไว้กันแดด ให้ความอบอุ่น แล้วแต่เลือกใช้
    • ถ้าใช้ในอากาศร้อน แดดแรง ควรใช้แบบระบายความร้อน และกน UV ได้ ถ้ายี่ห้อดีๆหน่อย ราคาในไทยประมาณ 300-500
    • ถ้าใช้ในอากาศหนาว ควรใช้แบบให้ความอบอุ่น
    • ที่ขายส่วนมากในประเทศไทย เป็นแบบระบายความร้อน ผมเคยเอาไปใส่เดิน ABC แล้วขนลุกเกรียว หนาวแขนมาก มันดูดความร้อนจากร่างกายเราออกไป
  • แว่นกันแดด : แนะนำทรง Sport เพราะมันป้องกัน แดด ลม หิมะ ได้ดี หรือจะใช้แบบเพิ่มการตัดแสง (Polarized) ลดการสะท้อนแสงจากหิมะ ด้วยก็ดีครับ
    • ถ้าใช้ขึ้นยอดต่างๆ หรือคาดว่าจะเจอหิมะตก หรือตาต้านแรงลมไม่ดี หาซื้อ Goggle (แว่นกันหิมะ) ไปก็ได้ครับ บ้านเราหาซื้อยาก ผมเคยเห็นแต่ยี่ห้อ Oakley ก็แพงมาก 6000 บาท ขึ้นไป ถ้าใช้บ่อย ซื้อไว้ก็คุ้ม
    • แนะนำลองไปดูร้าน Decathlon ตาม Tesco Lotus มีขายหลากหลายแบบ หลายราคา
    • ที่ Thamel, Nepal มีขาย แต่ไม่รู้ราคา, ส่วนในเว็บจีน AliExpress ที่ดูพอใช้ได้ มีให้เลือกตั้งแต่ $15 ขึ้นไป
  • หมวกกันแดด : หมวกแคป หมวกปีก หรือหมวกอะไรก็ได้ ตามชอบ
    • ถ้าชอบบังแดดดีๆ รอบด้าน ใช้หมวกปีก หรือหมวกแคปแบบมีคลุมคอ ในไทยมีขาย เช่น ร้าน Pathwild
    • ถ้าเท่ๆ ดูลุย ร้อนช่างมัน ก็ใช้หมวกแคปหรือหมวกไวเซอเลยจ้าา
  • หมวกกันหนาว : หรือหมวกไหมพรมที่ไว้ให้ความอบอุ่น โดยปกติผมไว้ใช้ช่วงนอน
    • หาได้ทั่วไปในไทย หรือตลาด Thamel, Nepal
  • ถุงมือกันหนาว : ไว้เก็บความอบอุ่นที่มือ แต่ลำบากตอน ถอดเข้าถอดออกเพื่อหยิบของและถ่ายรูป ควรหาถุงมือไลเนอร์ใส่ซ้อนอีกชั้น นอกจากเก็บความอบอุ่นเพิ่มแล้ว เวลาถอดออกหยิบของถ่ายรูป จะไม่หนาวมาก
    • หาได้ทั่วไปในไทย หรือตลาด Thamel, Nepal
  • ที่คลุมคอ (Neck Gaiter)/ผ้าพันคอ : ส่วนตัวผมไม่ได้ใช้ผ้าพันคอ คิดว่าลุ่มล่ามไปหน่อย แต่ใช้เป็นที่คลุมคอแทน ให้ความอบอุ่นช่วงลำคอในขณะนอน หรือเดิน
    • ที่คลุมคอหาตามช็อปไทย North Face, Columbia หรือตลาด Thamel, Nepal
  • ผ้าบลัฟ (Buff) : หรือผ้าเอนกประสงค์ ไว้ปิดจมูกเวลาเจอฝุ่น ปิดหน้าเวลาเจอแดด เจอหิมะ รวบผมสำหรับคนผมยาว
    • ในไทยมีเยอะมาก หลายราคา 50-150 บาท แต่ถ้าของแท้ราคาหลายร้อย ยี่ห้อ Buff จะมีทั้งแบบกัน UV, แบบให้ความอุ่น, แบบระบายความร้อน
  • เสื้อสเวตเตอร์ (Sweater) : เสื้อขนสัตว์หรือไหมพรมที่เราเห็นใส่เดินเล่นในเมือง เก๋ๆ ตอนหน้าหนาว นั่นหละ ใส่กันความหนาวได้นิดหน่อย
    • ในไทยมีทั่วไป สวยๆ มีเยอะ
    • ตลาด Thamel, Nepal มีขายแปลกหน่อยคือ ผ้าขนตัวจามรี (Yak) แต่ผมไม่เคยลอง แหะๆ
  • เสื้อฟลีซ (Fleece/Softshell) : เสื้อขนๆ ที่ทำจากใยสังเคราะห์ ใส่กันความหนาวได้ดีระดับปานกลาง
    • ในไทยมีทั่วไป สวยๆ มีเยอะ
    • ตลาด Thamel, Nepal มีขาย ราคาประมาณ 500บาท ขึ้นไป แต่ด้วยมันเป็นขนๆ อาจดูสกปรกหน่อย
  • เสื้อขนเป็ด (Down) : จริงๆ มันทำจากขนห่านนะ ให้ความอบอุ่นที่สุด ด้วยหลักการ การกักเก็บความร้อนจากร่างกายที่ระเหยออกมา
    • ในไทยมีขาย ถ้ายังต้องไปที่หนาวอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะปีนเขา เที่ยวญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ  แนะนำซื้อของแท้ไปเลย แพงหน่อย แต่ใช้ได้หลายงาน ราคาประมาณ 6,000 บาท ขึ้นไป
    • ตลาด Thamel, Nepal มีขาย เคยซื้อมาตัวนึง กันหนาวได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยัดขนอะไรมาไม่รู้สีดำๆน้ำตาลๆ เหมือนขนไก่ และขนหลุดง่ายมาก เสื่อมสภาพไว ราคาประมาณ 1,000บาท ขึ้นไป ถ้าใช้ชั่วคราว ก็เหมาะสมดี
  • ถุงเท้าขนสัตว์ (Wool) : ให้ความอบอุ่นที่เท้าเวลานอน หรือเทรกไปที่หนาวมากๆ
    • ที่ตลาด Thamel, Nepal มีขายคู่ละประมาณ 200-300 บาท ส่วนในไทยหายาก ร้าน Pathwild มีขาย ราคาพอๆกับเนปาล จะลองซื้อมาทดสอบก่อนก็ได้
  • ผ้าคลุมรองเท้า (Gaiter) : สำหรับหุ้มช่วงปากรองเท้ากับขาเรา เพื่อปิดไม่ให้ หิน ดิน ทราย หิมะ หรือสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าไปในรองเท้า
    • จะมีแบบเทรกกิ้ง ใช้ผ้าหนา กันน้ำได้ กับแบบใช้วิ่ง ผ้าจะบาง ยืดหยุ่นได้, ถ้าจะไปเนปาล ต้องใช้แบบเทรกกิ้งนะครับ
    • ในไทยมีขาย 500-1,000 บาท,  ที่ตลาด Thamel, Nepal ก็มี
  • เสื้อกันลม/ฝน (Outer Layer/Hardshell) : ใช้ตามชื่อเลยครับ ถ้าบางๆจะใช้กันลม หนาหน่อยใช้กันฝน/หิมะ แต่ก็ตามมาด้วยร้อนมาก
    • โดยปกติผมใช้กันลม 1 ตัว และมีเสื้อกันฝนประเภท Poncho อีก 1 ตัว แยกกัน
    • เสื้อกันฝนแบบ Poncho บางทีก็ร้อนอบเกินไป ทำให้ตัวเปียก ไม่สบายตัว อาจจะหาเป็นเสื้อกันฝนแบบปกติก็ได้ ร้อนมากก็รูดซิบออกได้
    • แนะนำให้หาซื้อที่ตลาด Thamel, Nepal ราคาประมาณ 800-1,500 บาท สกปรกก็ไม่เสียดายมาก
    • เป็นชุดที่เราใส่ชั้นนอกสุด สีต้องเจ็บ รูปออกมาตัดหิมะสีขาว จะสวยจะหล่อก็เสื้อตัวนี้แหละครับ

สำหรับใครจะหาซื้อในไทย ลองดูที่ลิงค์  รวมร้านขายอุปกรณ์เดินป่าในกรุงเทพฯ ได้ครับ

สมการ การใส่ชุดเป็นชั้นๆ (Layered)

เป็นสมการที่ใช้ส่วนตัวนะครับ ซึ่งผมเป็นคนเหงื่อออกง่าย ทนหนาวได้ระดับนึง ยังลั๊นลาได้ในระดับ 15-20องศา ดังนั้น การแต่งตัวอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความทนทานของแต่ละคน แต่แจกแจงไว้ให้ดูว่าการใส่เป็นชั้นๆ มันสามารถ ผสมผสานกันได้ ด้วยชุดเซ็ตเดียวกัน

  1. อากาศร้อน (> 25c) : เสื้อ + ปลอกแขน(ถ้าใส่เสื้อแขนสั้น) + กางเกงเดินป่าทั่วไป (แต่งแบบเดินป่าไทยเลย)
  2. ฝนตก : ใส่แบบ ข้อ (1) แต่ หยิบเสื้อกันฝนมาใส่ หรือกางร่มก็ได้
  3. เจอลูกเห็บ : ทำแบบ ข้อ (2)
  4. อากาศเย็น (15-25c) : เสื้อ + เสื้อฟลีท (Fleece) หรือ เสื้อสเวตเตอร์ (Sweater) + [หรือ เสื้อกันลม ถ้ามีลม] + กางเกงเดินป่าทั่วไป
  5. หนาว (10-15c) : กางเกงลองจอน + เสื้อ + เสื้อขนเป็ด (Down) + เสื้อกันลม + กางเกงเดินป่าทั่วไป [หรือ กางเกงกันหิมะ ถ้าอยู่ในหิมะ]
  6. หนาวมาก (5-10c) : เสื้อและกางเกงลองจอน + เสื้อ + เสื้อขนเป็ด (Down) + เสื้อกันลม + กางเกงเดินป่าทั่วไป [หรือ กางเกงกันหิมะ ถ้าอยู่ในหิมะ]
  7. หนาวสลัดๆ(< 5c) : เสื้อและกางเกงลองจอน + เสื้อ + เสื้อฟลีท (Fleece) + เสื้อขนเป็ด (Down) + เสื้อกันลม + กางเกงกันหิมะ

(เส้นทางจาก ABC กลับลงไป MBC มีแดดแรง จะหนาวเมื่ออยู่เฉยๆ ควรเดินหรือขยับร่างกายตลอดเวลา)

2. รองเท้า สำคัญที่สุด


(ตัวอย่างรองเท้าเทรกกิ้งแบบบูธ – ภาพจาก Zappos.com)

เพราะมันเป็นสิ่งที่ติดตัวเราตลอดทั้งวัน และใช้งานหนักด้วย บางคนคิดว่ามันใช้รองเท้าเทรกอะไรก็ได้ ซึ่งก็อาจจะจริง แต่พอมีความหนาว มีหิมะเข้ามาเป็นเงื่อนไขเพิ่ม ก็ต้องคิดสักนิด


(ประเภทของรองเท้าที่จะใช้บ่อยคือ Trail Running และ Hiking ส่วน Mountanering Shoe จะใช้สำหรับการขึ้นยอดภูเขาหิมะต่างๆ – ภาพจาก ForTheLoveOfOutdoors.com)

ผมขอแยกรองเท้าเทรกเป็น 3 กลุ่ม ที่จะเจอในร้านขายรองเท้าในประเทศไทย

  1. รองเท้า Multi-Sport/รองเท้าวิ่งเทรล/รองเท้าผ้าใบ: เป็นรองเท้าใช้เดิน ใช้ออกกำลังกายทั่วไป หรือวิ่งเทรล เบา ใส่สบาย มีดอกยางกลุยดินไม่ลึกมาก ตัวรองเท้าและพื้นไม่ค่อยทน ผมลองเอาไปเดินป่าไทยไม่กี่ทริป ดอกยางและตัวรองเท้าพังไว (แต่มันใส่สบายโครตเลยนะ) – ราคาประมาณ 2,000 บาท ขึ้นไป)
  2. รองเท้าเทรกทั่วไป (Hiking Shoes): เป็นรองเท้าใส่เดินป่าทั่วไป รูปทรงคล้ายรองเท้าวิ่ง ทำจากยางจากผ้าอะไรก็แล้วแต่ แต่ดูเทอะทะกว่า แข็งแรงกว่า มีดอกยางลึกเพื่อกลุยดิน ส่วนมากพบได้ทั้งแบบข้อสั้นและหุ้มข้อขึ้นมาแบบกลางๆ (แต่ถ้าสายแข็งบางคนจะใช้สตั๊ดดอย) – ราคาประมาณ 3,000 บาท ขึ้นไป)
  3. รองเท้าเทรกแบบบูธ (Hiking Boots): เป็นรองเท้าเทรกคล้ายแบบข้อ 2 แต่เนื้อรองเท้าเป็นหนังแท้ หรือหนังผสม แข็งแรงกว่า ส่วนตัวคิดว่าสวยกว่า แต่แพงกว่า มีดอกยางลึกเช่นกัน ส่วนมากพบเป็นหุ้มข้อสูง ถ้าคิดจะซื้อใช้ควบกับป่าไทย ต้องดูดีๆ เพราะบางรุ่นบุชั้นกันหนาวด้วย หรือเป็นรองเท้าสำหรับเดินบนหิมะ – ราคาประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป

ที่เห็นใช้เดินเนปาลกัน อยู่รอดปลอดภัยดี คือ ข้อ 2 และ 3, ส่วนตัวผมเองใช้ข้อ 3 เป็นบูธปกติหุ้มข้อสูง ไม่ได้บุกันหนาว ก็สามารถไปได้ครับ

ไม่ค่อยแนะนำให้ซื้อของก็อปนะครับ เพราะเราเดินทั้งวัน ติดต่อกันหลายวัน ยิ่งเดินยิ่งกันดาร ถ้ารองเท้าพังขึ้นมา ไม่มีร้านซื้อ ไม่มีร้านซ่อม โดยเฉพาะที่เห็นเพื่อนเป็นกัน คือ พื้นหลุด ซึ่งแก้ขัดได้ด้วยการเอาเชือกมัด ทุลักทุเล

ถ้าเป็นคำแนะนำของป๋าคมรัฐ กรณีรองเท้าเก่าหรือไม่ทน แกแนะให้ส่งร้านเย็บหนัง เย็บพื้นกับตัวรองเท้าให้แน่น หรือถ้าใครไปกับป๋าก็โชคดีหน่อย ป๋ามักจะพกเข็มกับด้ายไปเย็บรองเท้าด้วย


(ป๋าคมรัฐกำลังเย็บรองเท้าให้คนในทีม Manaslu Circuit)

3. กระเป๋า จะใหญ่ขนาดไหน อาจไม่สำคัญ


(ตัวอย่างกระเป๋า Duffle Bag – ภาพโดย outdoorgearlab.com)

ไม่ว่าคุณจะมีกระเป๋ยี่ห้ออะไร ขนาดไหน ก็อาจไม่สำคัญสำหรับการไปเทรกกิ้งที่เนปาล เพราะคุณจะใช้มันแค่ช่วงเดินทางบินไปกลับจากไทย-เนปาล เท่านั้นเอง

การไปกับทัวร์ เมื่อคุณไปถึงเนปาล คุณจะต้องย้ายของๆคุณเข้ากระเป๋า Duffle Bag ที่เขาแจกให้ (หรือให้คุณซื้อ) เพราะลูกหาบจะมัดรวม Duffle Bag และแบกใส่หลังแทน เขาจะไม่แบกเป้คุณคนเดียว เพราะเขายังมีของๆเขาด้วย และอาจจะต้องแบกให้เพื่อนในกล่มคุณอีก ให้มีน้ำหนักรวมประมาณ 30-40กก แล้วแต่ความฟิตคน


(ทิ้งเป้ไว้ที่โรงแรมในเมือง แล้วถ่ายของเข้า Duffle Bag ให้ลูกหาบ)

แต่ถ้าคุณไปทริปแบบกลุ่มส่วนตัว หรือไปเดี่ยว นั่นก็แล้วแต่ตกลงกันครับ ว่าจะจ้างลูกหาบ ต่อ จำนวนนักท่องเที่ยวกี่คน และจัดสรรการแบกของอย่างไร

คำเตือน!! ถ้าให้ลูกหาบแบกเป้ เขาอาจไม่ได้สนใจและดูแลเป้แพงๆของคุณ ก็ได้นะ, อย่างไรผมก็ยังแนะนำเป็น Duffle Bag

และแนะนำเพิ่มเติม แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ Duffle Bag, แต่การซื้อมันกลับมาใช้ในไทยก็น่าสนใจ เพราะสนนราคาขายที่ Thamel, Nepal ประมาณ 500-600 บาท สามารถกันน้ำได้ระดับหนึ่ง เหมาะกับเอาไปใช้ออกทริปประเภท Car Camp หรือเอามาเก็บของใช้ภายในบ้านก็ได้

4. อาหารและน้ำ เจ็บมาแล้ว เพราะคิดว่าเป็นคนกินง่าย

ว่าด้วยเรื่องอาหารก่อน


(ผมเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนกินง่ายอยู่ง่ายมาตลอด จนกระทั้งได้ไปเนปาล..)

ถ้าเราไปกับกลุ่มทัวร์ ไกด์คนไทยมักจะเตือนเสมอว่าอาหารเนปาลจืดนะ ให้พกอาหารไทยไปด้วย หรือพกซอส น้ำพริก น้ำปลา ไปปรุงด้วย, แต่ไอ้คำว่าจืดของเขาเนี่ย ไม่ใช่จืดแบบไทยๆนะ

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบกินจืด ไปร้านไหนไม่ค่อยปรุง ใครทำอะไรมาให้ ก็กินแบบนั้นแหละ ผมก็เข้าใจว่าอาหารเนปาลจืดๆน่ะ สบายมาก แต่แล้วผมก็เข้าใจผิด..

เพราะอาหารจืดในประเทศไทย คือ อาหารรสอ่อนมาก หรือมีความกลมกล่อมนวลๆ ใส่ผงชูรส ใส่ซุปไก่ หรือน้ำซุปเป็นต้มกระดูก ต้มหัวไชเท้า มีกลิ่นหน่อยๆ เหมือนก๋วยเตี๋ยวนายฮั้งเพ้ง บะหมี่แห้งลูกชิ้นปลา ต้มตำลึง ต้มเครื่องในหมู…

แต่อาหารจืดระหว่างเทรกในเนปาล คือ อาหารที่จืดจริงๆ เช่น ซุปผัก ก็คือผักใส่น้ำร้อน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ, หรือ ผัดผัก ก็คือ เอาผัดผักใส่น้ำมัน แค่นั้น พอมันไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีอะไรไปกระตุ้นประสาทเหมือนที่เคยชิน เจอแบบนี้ 3 มื้อ ทุกวันๆ 10 วัน ก็แย่นะครับ

อ่อ ในเมนูอาหารระหว่างที่เนปาล จะมีพวก พิซซ่า มักกะโรนี ข้าวผัด ด้วยนะ แต่อย่าคาดหวังว่าเหมือนที่เราเคยกิน เพราะมันก็จืดเช่นกัน

ดังนั้น เราจึงต้องพกพาอาหารไปด้วย และต้องมีน้ำหนักเบาด้วย เช่น

  • ของแห้ง : ประมาณว่า หมูแผ่น หมูหยอง หมูฝอย ปลาหมึกแห้ง ปลากรอบ ฯลฯ ไว้กินประกอบกับมื้ออาหารทุกมื้อได้ (มีบางพื้นที่เขาไม่ให้กินเนื้อสัตว์ ก็ลองเช็คข้อมูลหน่อยนะครับ)
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/โจ๊กซอง : แก้ขัดได้อย่างดีเวลาเบื่ออาหาร ตามเส้นทางเทรกที่เนปาล จะมีบะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีขายนะ รสเผ็ดนิดหน่อย อร่อยดี แต่ก็ราคาสูงหน่อย พกไปเองดีกว่า
  • เครื่องปรุง : น้ำพริก น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำตาล เกลือ เน้นกินอะไร ชอบอะไรก็พกไป
  • เครื่องดื่มชนิดผง : ผมแนะนำน้ำขิง ช่วยเพิ่มความร้อนให้ร่างกายได้อย่างดี หรือจะพกพวก กาแฟ เนสวิต้า ไมโล โอวัลติน น้ำถั่วเหลือง ก็ได้
  • อาหารให้พลังงาน : มันช่วยได้ และมีรสชาติดี พกไว้กินเพิ่มพลังระหว่างเดิน
    • Power Bar : เช่น พวก ช็อกโกแลต, Sneaker, ซีเรียลอัดแท่ง
    • ผลไม้แห้ง : เช่น กล้วยตาก ลูกเกด กีวี อินทผาลัม
  • ของกินเล่น : โอริโอ้, ลูกอม, หมากฝรั่ง, เจลลี่, บ๊วย ฯลฯ

อาหารที่กล่าวมาทั้งหมด มีขายที่ Nepal แต่ผมว่าซื้อจากไทยถูกกว่า ยิ่งไปหาตาม Lotus, Big C แถมมีโปรโมชั่น ก็จะได้ถูกลงไปอีก

ต่อมาเรื่องของน้ำดื่ม


(ผมใช้ที่กรองน้ำยี่ห้อ Sawyer แบบในรูป มันพับถุงเก็บได้ ประหยัดพื้นที่กว่าแบบขวด –  ภาพจาก gearupandplay.com)

ที่เนปาลน้ำดื่มในเมืองราคาถูก ขวดใหญ่ประมาณ 10บาท แต่พอขึ้นเขา จะเริ่มแพงเรื่อยๆตามความสูง อาจจะเจอ 60-150 บาท ได้ ยิ่งพอเริ่มสูง ก็จะไม่มีขวดให้ ต้องเอาขวดเปล่าไปเติมเอง

ตามเส้นทางเทรก มีก็อกน้ำ ท่อน้ำอยู่ตลอดทาง ต่อมาจากแม่น้ำ เปิดทิ้งเปิดขว้างมาก (เขาเป็นต้นนี้นี่นะ) จริงๆหลายคนบอกว่า น้ำของเขาสามารถกินได้เลย เพราะใกล้ต้นน้ำ ไม่ค่อยมีสารพิษเจือปน แต่ก็จะเป็นน้ำที่ชาวบ้านไว้ใช้ ถ้าใครธาตุอ่อน ท้องเสียง่าย แนะนำให้ซื้อที่กรองน้ำพกไปด้วยครับ นอกจากได้น้ำสะอาดแล้ว ยังประหยัดงบได้อีกเยอะ

ผมลองคำนวณคร่าวๆ ตอนไป Manaslu ตีว่าคนในทีมมีใช้ที่กรองน้ำ 10 คน เฉลี่ยกรองน้ำกันวันละ 3-4 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน, ครั้งละ 1 ขวดลิตร) เดินประมาณ 9 วัน จะได้ตัวเลขกลมๆ (10×4) x 9 = 360 ขวดลิตร ประมาณว่าขวดละ 50 บาทก็พอ ประหยัดไปได้ 18,000 บาท ต่อทีม เลยนะครับ

แต่ถ้าจะให้สบายใจ สะอาดจริงๆ ก็ซื้อน้ำเป็นขวด หรือต้มน้ำดื่มแทนครับ โดยเฉพาะเส้นทางที่มีผู้คนอยู่อาศัยเยอะๆ อย่าง ABC, EBC

ส่วนเครื่องดื่มอื่นๆ ตามที่พักมีขายทุกที่ครับ หลักๆ คือ น้ำผลไม้(ชบา) น้ำอัดลม เบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง(กระทิงแดง)

คำเตือน!! เมื่อขึ้นที่สูงมากๆ เช่น 3,000-4,000 เมตร ขึ้นไป การดื่มแอลกอฮอล จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ความสูงได้ง่ายขึ้น


(เบียร์ท้องถิ่น 3 ยี่ห้อ ที่จะพบเห็นบ่อยๆ)

5. ประกันอุบัติเหตุ/ชีวิต ควรมีไว้ แต่อย่าใช้เลย

(เส้นทางเดิน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราไม่มีประสบการณ์ อะไรก็เกิดขึ้นได้)

สำหรับคนไปเอง ควรต้องทำประกันอุบัติเหตุไว้ด้วย, ส่วนใครใช้บริการทัวร์ ปกติจะมีให้อยู่แล้ว ต้องลองเช็คข้อมูลให้ดีก่อนนะครับว่าทำ Package ไหน ครอบคลุมอะไรบ้าง โดยให้เราจำลองกรณีที่แย่ที่สุด เช่น บาดเจ็บหนัก หรือเสียชีวิต

ถ้าทำประกันเอง ลองเช็คข้อมูล หรือตั้งคำถามกับทางตัวแทนประกัน เช่น

  • คุ้มครองประเภทการท่องเที่ยว/กิจกรรมของเราไหม?: เราไปปีนเขา เดินป่า ไม่ใช่เที่ยวโดยปกติ ถ้าเกิดอุบัติเหตุมากกว่าการเดินทาง หรือ สุขภาพ จะคุ้มครองหรือไม่
  • การเคลมประกันทำอย่างไร, สามารถประสานงาน ผ่านทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ได้ 24 ชั่วโมงหรือไม่?
  • ครอบคุลมค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาลที่เนปาลได้ไหม? ที่ไหนบ้าง?
  • ครอบคุลมค่าใช้จ่ายบริการเฮลิคอปเตอร์กู้ชีพ (Rescue Helicopter) หรือไม่? : อ่านตามรีวิว คนไทยใช้บริการบ่อยมาก ด้วยอาการแพ้ความสูง ซึ่งถ้าเรียกมาเอง โดยไม่มีประกัน  จะมีค่าใช้จ่าย 2-3 แสนบาท (เป็นข้อที่ควรจะต้องมีในแพคเกตประกัน)
  • ครอบคุลมค่าใช้จ่ายในการนำตัวส่งข้ามประเทศมารักษาที่ไทยต่อได้หรือไม่? 
  • ครอบคุลมค่าใช้จ่ายในการนำร่างกลับไทยหรือไม่? : กรณีเสียชีวิต
  • คุ้มครองความล่าช้า/เลื่อน/ยกเลิกการเดินทางหรือไม่? : เครื่องบินเนปาล เป็นอะไรที่เอาแน่นอนไม่ได้เลยครับ เพราะสภาพอากาศ และการจราจร (มีก็ดี, ไม่มีก็ได้)

แต่อย่างที่จั่วหัวไว้ ควรทำไว้ แต่อย่าใช้ดีกว่าครับ ดูแลตัวเอง และไปให้จบ อย่างปลอดภัย

6. อย่าลืมพกยารักษาโรค ทั้งปัจจุบันและอนาคต


(ภาพจาก routeexplorer.wordpress.com)

คนมีโรคประจำตัวมักพกยารักษาตัวเองเป็นประจำ ส่วนคนที่ไม่มีก็จะไม่พกบ้าง หรือนึกไม่ค่อยออกว่าจะเป็นอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างอันตราย หากเป็นอะไรขึ้นมา

เท่าที่สังเกต ไกด์และลูกหาบ ส่วนมากไม่พกยา, ตามบ้านพักก็ไม่ค่อยมียาขาย ดังนั้น ยาพื้นฐานที่เราควรต้องพก มีดังนี้

  • เป็นไข้
    • ยาแก้หวัด
    • ยาแก้ไข้ (พาราเซตามอล)
    • ยาแก้ไอ
  • อาหารเป็นพิษ
    • ถ่านกัมมันต์หรือชาร์โคล (Activated Charcoal)
    • ยาฆ่าเชื้อในกระเพาะอาหาร
    • ยาธาตุ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • บาดเจ็บ
    • แอลกอฮอลฆ่าเชื้อ
    • ยาเหลือง
    • พลาสเตอร์แปะแผล
  • อื่นๆ
    • ยาหยอดตา – หนาวๆ ทำตาแห้งได้นะ
    • สเปรย์ดับกลิ่นปาก/สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอ – เพิ่มความชุ่มชื่นในช่องปาก หรือไม่มีน้ำแปรงฟัน หรือหนาวจนขี้เกียจแปรงฟัน
    • ยาพ่นจมูก/ยาหดหลอดเลือด (decongestant) – เผื่อคัดจมูก

ส่วนยาแก้แพ้ความสูง (Diamox) ไม่นับเป็นยาสามัญทั่วไป หากต้องการใช้ ควรหาข้อมูลหรือถามหมอ ถามเภสัช ก่อนใช้

มีทริกอีกนิด ให้ลองถามคนร่วมกลุ่มที่จะไปเทรกกิ้ง ว่ามีใครเป็นหมอไหม อาจจะขอคำแนะนำตั้งแต่เตรียมตัวก่อนไปเลยก็ได้ เพราะที่ผ่านมา ผมเจอหมอไปร่วมทริปทุกครั้ง เป็นตู้จ่ายยาเคลื่อนที่ ให้คำแนะนำ จนถึงปฐมพยาบาลได้

7. รักจะเที่ยวลำบาก ก็หมั่นรักษาร่างกายให้แข็งแรง


(ฉันยังเก๋านะยะ)

ระยะหลังที่เห็นคนไปเนปาล โดยเฉพาะ ABC จะเริ่มไม่ใช่กลุ่มคนเดินป่า (Trekker) แต่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบกเป้ (Backpacker) ที่อาจไปหลงคารมเพื่อน หรืออ่านรีวิวต่างๆ เห็นภาพสวยงามดั่งสวรรค์ พบว่า ไอ้อ้วนคนนี้ไปได้ ลุงคนนี้ไปรอด เธอคนนั้นไม่ออกกำลังกาย ก็ไปไหว เอ๊ะ มันไม่ยากนี่หว่า!!..

จริงๆ ก็ไปได้ตามที่รีวิวบอก โดยเฉพาะ Poon Hill, ABC แต่ไปแล้วจะสนุกได้ ก็ต้องให้ร่างกายแข็งแรงในระดับหนึ่งนะครับ

สนุกที่ผมหมายถึง คือ การได้เดินไปเรื่อยๆ หรือเกาะกลุ่มกับเพื่อน ถ่ายรูปเล่น ถึงเมืองไหนก็สำรวจ กินข้าว สังสรรค์ เฮฮา, ไม่ใช่ เดินปวดแข้งปวดขา ถึงที่พักก็เพลีย เข้าห้องนอน ตื่นมาล้าๆ เมื่อยๆ เบื่อๆ เซ็งๆ กรูต้องเดินอีกแระ! (บางทีผมก็เป็นแบบหลังนะ โดยเฉพาะวันท้ายๆ ฮ่าๆ)

เพราะการไปเนปาล เราจะต้องเดินวันละ 4-8 ชม ติดต่อกันหลายวัน ดังนั้น แรกๆ อาจจะสนุก เพราะมีแรง แต่วันหลังๆ จะเริ่มล้า เพลีย

วันนี้! ผมขอเสนอ.. การออกกำลังกายที่ปรับเปลี่ยนได้ 3 รูปแบบ

แบบคาร์ดิโอ (เคลื่อนไหวให้หัวใจเต้น 125-145 ครั้งต่อนาที หรือ Zone 2 – 3)


(ภาพจาก pinkitalia.it)

เล่นไม่หนักมาก แต่ใช้เวลานานๆ เพื่อฝึกให้ร่างกายและหัวใจมีความอึด ทนทานต่อการออกแรงติดต่อกันหลายชั่วโมง เช่น

  • เดิน
  • วิ่ง
  • ว่ายน้ำ
  • เต้นแอโรบิก
  • ต่อยมวย
  • กระโดดเชือก

แบบเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ


(ภาพจาก indigodaily.com)

เล่นได้ทุกส่วน แต่เน้นที่กล้ามขา เช่น

  1. ทำสควอช
  2. วิ่งทางชัน
  3. ปั่นจักรยานแบบฝืด

แบบพิลาทิส (Pilates)


(ภาพจาก pilatesinlewes.com)

เพิ่มให้ เพราะมันไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการยืดเหยียด บริการร่างกาย โดยมีข้อดีคือ ทำให้ตัวยืดหยุ่น ลดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ลดตะคริว ลดการบาดเจ็บ ลดการปวดเมื่อย ได้อย่างดีเลย เช่น

  1. โยคะ
  2. ไทเก็ก (ภาษาฟิตเนส เรียกว่า ไทชิ นั่นหละ)
  3. หรือ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่าง หนังยาง โฟมโรลเลอร์ ฯลฯ

(คำแนะนำการฝึกร่างกาย ให้ฟิตล่วงหน้า 3 เดือน โดยทำคาร์ดิโอและสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ- ภาพจาก blog.rei.com)

8. ข้อสุดท้าย อย่าลืมพกสิ่งของเหล่านี้ติดไปด้วย


(แผนที่ Annapurna Base Camp – ภาพจาก albinger.me)

  • ถุงนอน (Sleeping Bag) : บางที่พักไม่มีผ้าห่มให้อาจต้องใช้ถุงนอน ถ้าไปกับทัวร์ บางทัวร์จะมีให้เช่าหรือยืมใช้
    • ถุงนอนควรรองรับอุณหภูมิได้ต่ำพอสมควร ตั้งแต่ +5 จนถึงติดลบ ซึ่งแล้วแต่สถานที่และช่วงเวลาที่เดินทางไป, ควรสอบถามกับไกด์ก่อนเดินทาง
    • ถุงนอนยิ่งรองรับอุณหภูมิได้ต่ำมาก จะยิ่งแพงมาก และโอกาสใช้จะน้อยด้วย ถ้าไปเช่าที่เนปาลก็อาจไม่ได้ถูกนัก, ผมแนะนำถุงนอนแบบ +5 องศา ที่สามารถใช้เที่ยวป่าในไทยได้ และเนปาลได้ ซึ่งถ้ากลัวหนาว ให้หาถุงนอนไลเนอร์เสริมอีกชั้น (Sleeping Bag Liners)
    • ถ้ากรณีไปเช่าถุงนอนที่เนปาล แนะนำให้ซื้อถุงนอนไลเนอร์ไปสวมทับ เพื่อป้องกันสิ่งไม่พีงประสงค์ที่เขาอาจทำความสะอาดไม่ดี
    • ที่ตลาด Thamel, Nepal หาซื้อถุงนอนเก๊แบบ -10 องศา ได้ที่ราคาประมาณ 800 บาท
  • ไฟฉายคาดหัว (Headlamp) : บางทีอาจต้องเริ่มเดินเช้ามืด หรือเดินถึงปลายทางค่ำๆ หรือไว้ใช้ระหว่างอยู่ในที่พักตอนกลางคืน
    • ใช้เป็นแบตหรือถ่ายก็ได้ ส่วนตัวผมใช้แบบแบตเตอรี่ เพื่อจะได้ชาร์ตเข้ากับ Power Bank
    • อย่าใช้กำลังไฟเบาเกินไป หรือรัศมีไฟแคบเกินไป ให้มีเลข Lumen สูง ระดับ 150+ เพื่อส่องทางได้ไกล และประเมินทางเดินได้ถูก
  • แผนที่ (Map) : ดูเหมือนจะโบราณ แต่ก็จำเป็น เพราะตลอดทางอาจไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เพื่อดู Google Map เลย
    • แม้ไม่มี Google Map แต่มีลูกหาบ มีไกด์ คอยบอกทาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตอบได้เข้าใจทุกคน ดังนั้นการดูแผนที่เพื่อให้รู้ว่าต้องเดินทางไกลแค่ไหน สูงเท่าไร ก็จะสามารถวางแผนได้
    • เส้นทางเดินในเนปาลจะชัดเจน ป้าย เมือง คนเดินทาง มีพบได้เรื่อยๆ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
    • เมื่ออ่านป้าย หรือถามไกด์ถึงระยะการเดินในเนปาล จะใช้หน่วยเป็นชั่วโมง เช่น เมือง A ไป B ใช้เวลาเดิน 3 ชั่วโมง (เข้าใจว่าเป็นการประเมินเวลาของคนท้องถิ่นที่ใช้เดินนะครับ)
    • หาซื้อแผนที่ได้ที่ตลาด Thamel, Nepal จะมีแบบเจาะลึกเฉพาะเส้นทางการเดินเลย เช่น ABC, EBC, Annapurna Circuit, Everest Region, Manaslu Circuit ฯลฯ
  • ไม้เท้า (Trekking Poles) : ต่อให้แข็งแรง แต่การมีไว้ให้อุ่นใจ เพราะช่วยในการทรงตัวบนหิมะได้ ช่วยผ่อนแรงเวลาเดินขึ้น/ลงได้ บางทีเจอต้นไม้มีพิษ เช่น ช้างร้อง ก็ใช้ปัดๆตีๆได้
  • แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) : ชาร์ตมือถือ กล้อง นาฬิกา ไฟฉาย บลาๆๆ
    • ถ้ามีเป็นแผง Solar Cell จะดีมาก แต่ก็แพงมากเช่นกัน
  • แครมปอน (Crampons) : เป็นตะปูสวมเข้ากับรองเท้า ใช้เดินบนหิมะ บางทริปต้องใช้ และบางทัวร์จะมีไว้ให้ยืม ไม่จำเป็นต้องซื้อเอง
  • แผ่นให้ความร้อน (Hot Pack) : ไว้ใช้แปะเท้า แปะตัว(แปะที่เสื้อผ้านะ) ระหว่างนอน เพิ่มความอบอุ่นทำให้หลับสบายขึ้น
  • เพลง/หนัง หรือหนังสือดีๆสักเล่ม : ไม่มีสิ่งบันเทิงใดในบ้านพักระหว่างเทรกกิ้ง หากกลัวเหงา ก็ควรพกไป (หนังสือพกเป็น E-Book จะสะดวกมาก)

หากไม่รู้จะเริ่มต้นจัดสิ่งของอย่างไรดี ลองดู รายการสิ่งของ ที่ผมใช้เตรียมไป ABC ในโพสนี้ได้ครับ

8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC (ตอนที่ 1-2 เริ่มต้นและเตรียมตัว)

8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC (ตอนที่ 1-2 เริ่มต้นและเตรียมตัว)

ส่วนใครอยากรู้ร้านซื้อสินค้าอุปกรณ์เดินป่าในกรุงเทพฯ สามารถดูได้จากโพสนี้ครับ

ชี้เป้า! รวมร้านขายอุปกรณ์เดินป่าในกรุงเทพฯ

ปล. เพิ่งไปฟังการเตรียมตัวเดินทางไป ABC, EBC ที่ร้าน Pathwild มาเมื่อวาน (12 มีนาฯ 2560) เลยกลับมาปรับปรุงเนื้อหาอีกรอบ .. ขอบคุณร้าน Pathwild ที่จัดสัมนาดีๆ ครับ

ที่มา – MyiFew : 8 ข้อ เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะไป(ปีนเขา)เนปาล?

Facebook Comments

iFew

Travel Leader at Tripder.com
ก้าวสั้นๆ แต่ไปเรื่อยๆ จากเมืองสู่ป่า ที่ราบลุ่มสู่ยอดเขา ในสายตาของฉัน
iFew

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.